

หญ้าปักกิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายก็เพราะคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 คุณณรงค์ เห็นลูกน้องของเพื่อนหายจากมะเร็งด้วยหญ้าปักกิ่งจึงรวบรวมเพื่อน ๆ ให้ช่วยกันปลูกหญ้าปักกิ่งแจกให้กับคนไข้มะเร็งที่ต้องการจะใช้หญ้าปักกิ่ง พร้อมทั้งมีการรวบรวมประสบการณ์การใช้หญ้าปักกิ่งในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
หลังจากนั้นคุณณรงค์ได้นำข้อมูลเหล่านี้พร้อมทั้งตัวอย่างหญ้าปักกิ่งไปมอบให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.วีณา จิรัจฉริยากุล ศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จากการศึกษาวิจัยค้นคว้าพบว่า หญ้าปักกิ่ง มีสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยยับยั้งมะเร็ง
จากการรวบรวมผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้หญ้าปักกิ่งรักษาตนเอง ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งมดลูก มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม เนื้องอกในสมอง มะเร็งม้าม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระดูก น้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโต เคมีเลือด และพยาธิสภาพของอวัยวะสำคัญในหนูขาว ค่า LD ในหนูขาวมากกว่า 120 กรัม/น้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับ 300 เท่าของขนาดรักษาในคน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย การทดลองป้อนน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งให้แก่หนูขาวติดต่อกันนาน 3 เดือน พบว่าหญ้าปักกิ่งขนาดที่ใช้รักษาในคน มีความปลอดภัยเพียงพอเมื่อใช้รักษาติดต่อกันนาน 3 เดือน
งานวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็ง เบื้องต้นได้ทำการวิจัยเพื่อแยกสารที่แสดงคุณสมบัติต้านมะเร็ง พบว่าหญ้าปักกิ่งประกอบด้วยสารกลุ่มต่างๆ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน กลัยโคไซด์ ฟลาโวนอยด์ และอะกลัยโคน
ฤทธิ์ต้านมะเร็งของหญ้าปักกิ่ง
Glycosphingolipid ซึ่งสกัดแยกจากหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านมของคน เมื่อทดลองในหลอดทดลอง
กลุ่มสารที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (direct cytotoxicity) เช่น เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ กลุ่มกลัยโคไซด์ และอะกลัยโคน ทำการแยกส่วนในกลุ่มกลัยโคไซด์ได้ 2 ชนิด คือ ไฟโตสเตียรีลกลัยโคไซด์ (Phytostearil glycoside) และกลัยโคสฟิงโกไลปิดส์ (Glycosphingolipids) นำสารทั้งสองมาตรวจสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบว่า Glycosphingolipids แสดงฤทธิ์ดังกล่าว
เนื่องจากฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งของหญ้าปักกิ่งค่อนข้างอ่อน จำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติต้านมะเร็งที่แสดงทางอ้อม โดยผ่านเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน
Glycosphingolipids จัดเป็นไลปิดที่มีความเป็นขั้วสูง เป็นองค์ประกอบสำคัญของเซลล์ผิว และแตกต่างจากไลปิดส์อื่นตรงที่ละลายน้ำได้ มักพบที่สมอง ระบบประสาท และอวัยวะอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดง ไต ม้าม รก ซีรัม และตับ ปกติ Glycosphingolipids จะมีบทบาทในปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน glycosphingolipids ที่แยกได้จากเซลล์มะเร็งแตกต่างจากเซลล์ปกติ ความแตกต่างนี้แสดงถึงปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนไปของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น glycosphingolipids จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในงานวิจัยโรคมะเร็ง
มีผู้รายงานถึงคุณสมบัติต้านการก่อการกลายพันธุ์ของหญ้าปักกิ่งซึ่งอาจบ่งชี้ว่าหญ้าปักกิ่งอาจป้องกันการเกิดมะเร็ง หญ้าปักกิ่งสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดเอนไซม์ที่ย่อยสลายสารพิษ และลดการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้
การศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งของหญ้าปักกิ่ง จำเป็นต้องผ่านการทดลองทางคลินิก เนื่องจากจะมีการพัฒนารูปแบบการใช้ที่ทันสมัยและแตกต่างไปจากเดิม
วิธีใช้หญ้าปักกิ่ง
นำหญ้าปักกิ่งที่ล้างสะอาดแล้ว 3 ต้นมาตำให้ละเอียดในครกดินเผาหรือครกไม้(ควรเป็นครกใหม่)
เติมน้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นกรองผ่านผ้าขาวบาง เอาน้ำมาดื่ม น้ำจากหญ้าปักกิ่งที่ทำแต่ละครั้งควรเป็นหญ้าปักกิ่งสดและควรดื่มให้หมดในแต่ละครั้ง ไม่ควรทำค้างไว้
เพราะอาจทำให้สรรพคุณของยาเสื่อมได้ โดยผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง คือ ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมง และก่อนเข้านอนอีก 1 ครั้ง เด็กกินครั้งละ ½ -1 ช้อนโต๊ะ
ของแสลงต้องห้าม ได้แก่ แตงกวา หน่อไม้ ผักบุ้ง ปลาเค็ม ปลาร้า เนื้อวัว
สูตรดั้งเดิม
แต่เดิมการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งตามตำรายาพื้นบ้าน
- การเตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง จะใช้ใบหรือทั้งต้นหญ้าปักกิ่ง (เฉพาะส่วนที่อยู่เหนือดิน)
- ประมาณ 100-120 กรัม
- นำไปแช่กับน้ำด่างทับทิมประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดเพื่อทำความสะอาด
- หลังจากนั้นให้นำหญ้าปักกิ่งมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคั้นเอาน้ำด้วยเครื่องปั่นแยกกาก
- นำน้ำคั้นที่ได้เทผ่านผ้าขาวบางและบีบคั้นเอาน้ำออกจากกาก ก็จะได้น้ำคั้นประมาณ 60 มิลลิเมตร
ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ครั้งละ 30 มิลลิลิตร และเป็นขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 60 กิโลกรัม แต่หากเป็นเด็กให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง)
โดยให้ดื่มติดต่อกัน 7 วัน และหยุด 4 วัน (เพื่อป้องกันการรับประทานเกินขนาด)
ซึ่งการเตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งนี้สามารถเตรียมไว้ใช้ได้ประมาณ 2-3 วัน
โดยการเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น แต่หลายท่านคงพบกับปัญหาว่าน้ำหญ้าปักกิ่งนั้นเหม็นเขียวและดื่มยาวเหลือเกิน เราก็สามารถแก้ไขด้วยการผสมน้ำผึ้งลงไป
โดยใช้น้ำผึ้งนำมาละลายกับน้ำอุ่นเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ
ผสมน้ำหญ้าปักกิ่งลงไปในแก้ว กะปริมาณความหวานให้พอเหมาะ
ก็จะช่วยทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น
สูตรการปั่น
ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว ประมาณ 6-7 ต้น
ใส่ลงในโถปั่นและใส่น้ำลงไปครึ่งแก้ว แล้วปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้
เสร็จแล้วกรองเอากากออกด้วยตะแกรง
นำมาแบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งตามที่กล่าวมา
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อใช้หญ้าปักกิ่ง
อาการข้างเคียงจากการดื่มน้ำจากหญ้าปักกิ่ง ถ้ากินไปแล้วภายใน 7-10 วัน อาจจะมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ โมโหง่าย บางรายถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะมีสีเหมือนน้ำล้างปลา(ไม่เป็นทุกคน) อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ระยะหนึ่ง เพราะยากำลังออกฤทธิ์ ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการจะหายไปเอง สำหรับบางคนถ้าดื่มน้ำคั้น เกิน 20 วันแล้วอาการของโรคที่รักษาไม่ดีขึ้น แสดงว่ายาไม่ถูกกับคนนั้น
ควรจะหยุดยา บางคนกินแล้วอาจถูกกับโรค เพียงแค่ 10 กว่าวันเท่านั้นอาการจะดีขึ้น คนที่มีสภาพร่างกายเย็นเมื่อดื่มน้ำคั้นหญ้าปักกิ่งนอกจากจะมีอาการข้างเคียงดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็อาจจะมีอาการอย่างอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เท้าไม่มีแรง เป็นตะคริว รวมทั้งอาการท้องอืดเฟ้อ ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่ขิงแก่ 2-3 ชิ้น ลงไปต้มกับน้ำที่จะนำมาผสมกับหญ้าปักกิ่งในขั้นตอนการตำ
ประโยชน์ของหญ้าปักกิ่ง
จากการสัมภาษณ์คนไข้โดยคุณณรงค์ พบว่าหญ้าปักกิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ปอดรายหนึ่งไอมาก เวียนศีรษะตลอด มีอาการหอบหืดด้วย เมื่อมาใช้หญ้าปักกิ่งแล้วอาการไอหอบดีขึ้นมากผู้ป่วยบางท่านอาการหนักต้องฉีดยาวันละ 3 เข็ม และกินยานอนหลับทุกคืน หลังจากทดลองใช้หญ้าปักกิ่ง พบว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น และไม่ต้องกินยานอนหลับแล้ว
ข้อควรระวังในการใช้หญ้าปักกิ่ง
- หญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ไม่ควรนำมาใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป หากรับประทานต่อเนื่องกันหลายปีโดยไม่หยุด อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ แขนขาชา กล้ามเนื้อลีบจนไม่อาจเดินได้ แต่เมื่อหยุดรับประทานอาการเหล่านี้จะหายไป
- หากใช้เกินขนาดที่กำหนดจะมีผลกดระบบภูมิคุ้มกัน
- ผลข้างเคียงของการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ คือ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส
- ปฏิกิริยาหรือผลข้างเคียงในระยะ 7-10 วันแรก หลังจากการรับประทาน อาจทำให้มีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ หรือเป็นไข้ อาจมีน้ำเลือดปนหนองออกทางอุจจาระ น้ำปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็นเหมือนน้ำล้างปลา เป็นต้น แต่ไม่ได้ความว่าจะเป็นแบบนี้ทุกคนหรือทุกอาหาร และเมื่อเป็น อาการทั้งหลายจะหายไปเอง ไม่ต้องตกใจ เพราะยากำลังออกฤทธิ์
- ใบของหญ้าปักกิ่งเมื่อสัมผัสผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการคันได้ เนื่องจากภายในใบมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลตรูปเข้มจำนวนมากและมีเกลืออนินทรีย์ของโซเดียมและโพแทสเซียมอยู่ประมาณ 0.1%
Comments